ทำไมหลายคนถึงชื่นชอบกองทุนรวม

เราอาจจะเคยได้ยินคนแนะนำว่าให้นำเงินไปลงทุนและปล่อยให้เงินทำงานแทนเรา เรานั่งอมยิ้มและนึกถึงภาพของเงินที่กำลังทำงานและผลิตเงินให้เราใช้อยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อมองกลับมาดูพอร์ตหรือบัญชีกองทุนรวมของเราเองที่แดงเหลือเกิน ฝันหวานของเราก็สลายไป

การลงทุนจะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย ยิ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีมืออาชีพคอยช่วยบริหารแล้วนั้น เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรมากเลย ในหนังสือ “โต้คลื่นโลกด้วยกองทุนรวม” คุณณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์ ได้ปูพื้นฐานให้ผู้อ่านเข้าใจกองทุนรวมและจิตใจของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำการอ่านข่าวให้เป็นและวิเคราะห์ให้ได้ว่าตลาดมีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อเรา “เข้าใจกลไกของตลาดและหาทางป้องกัน” ได้แล้ว เราก็จะ “ให้เงินลงทุนนั้นทำงานอย่างสบายใจ” ได้

ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวม
NAV หรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมทั้งหมด คำนวณจากราคาตลาดของสินทรัพย์ต่างๆ ณ สิ้นวันนั้น บวกด้วยกำไรสะสม บวกดอกเบี้ยที่กำลังจะรับ และหักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่หารเฉลี่ยออกมา กองทุนที่ราคา NAV ต่ำๆ ไม่ได้แปลว่ากองทุนนั้นถูก

ผลตอบแทนกองทุนมี 2 รูปแบบ ได้แก่ กำไรจากเงินต้น และเงินปันผล นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนคืนให้อัตโนมัติ เราควรเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนตรงตามวัตถุประสงค์ของเรา
สิ่งที่ต้องตรวจสอบจาก Fund Fact Sheet คือ เอกสารนั้นลงวันที่เท่าไร ข้อมูลล่าสุดแล้วหรือยัง (ปกติ Fund Fact Sheet จะออกเดือนละครั้ง) กองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุน กลยุทธ์การลงทุน และนโยบายการจ่ายเงินปันผลเหมาะสมกับเราหรือไม่ กองทุนมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดและมีการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับดัชนีเปรียบเทียบหรือกองทุนอื่นเป็นอย่างไร กองทุนลงทุนในอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไร

กองทุนรวมแบบ Active ตั้งใจบริหารให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark ส่วนกองทุนรวมแบบ Passive ตั้งใจบริหารให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Benchmark หลายคนนิยมซื้อกองทุน Passive เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นเนื่องจากเราสามารถดูดัชนีอ้างอิงได้ง่าย อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ส่วนคนที่สนใจลงทุนระยะยาวสามารถพิจารณากองทุนรวมทั้งแบบ Passive และแบบ Active เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
หัวใจสำคัญคือการเลือกสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว หรือกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงหากสินทรัพย์ใดที่ลงทุนมีการเติบโตต่ำ